.
ศาลหลักเมืองขอนแก่น หรือ “ศาลเทพารักษ์หลักเมือง” เป็นศาลหลักเมืองที่สร้างโดยรวมเอาวัฒนธรรมจีนและไทยเข้าไว้ด้วยกัน โดยคนจีนเรียกว่า “ศาลหลักเมืองกง” ส่วนคนไทยเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” ศาลเทพารักษ์หลักเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาสุขใจ เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนเมืองขอนแก่นมายาวนาน
เสาหลักเมืองแท้ๆ ของจังหวัดขอนแก่นแต่เดิมนั้นอยู่บ้านโนนเมือง อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่อำเภอเมือง ส่วนอาคารศาลหลักเมืองขอนแก่นหลังปัจจุบันเป็นศาลหลักเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ เปิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2550 สร้างขึ้นในโครงการบูรณะ พัฒนาปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมือง และในวโรกาสมหามงคลสมัยเพื่อน้อมถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเจริญพระชนมายุ 80พรรษา และเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองจำลองให้ประชาชนได้สักการบูชา ขอพรเจ้าพ่อหลักเมือง
บรรยากาศภายในศาลหลักเมืองมีความร่มรื่น และสะอาดตา สถาปัตยกรรมศาลหลักเมืองขอนแก่นนั้นลักษณะตัวอาคารเป็นศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ รูปทรงและส่วนประกอบงานศิลป์เป็นการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของท้องถิ่นอีสาน
รูปทรงของศาลหลักเมืองแห่งนี้เป็นอาคารโถงจัตุรมุข กว้างขวาง โอ่โถง โดยมีขนาดตัวอาคาร 13 x 13 เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีพื้นที่ภายในเป็นห้องโถงรวม 73 ตารางเมตร ย่อมุมตัวอาคารโดยรอบมีระเบียงยื่นทั้ง 4 ด้าน ความสูงจากพื้นลานรอบอาคารถึงถึงยอดฉัตรทองคำรวม 27.50 เมตร หลังคาเป็นทรงจั่วจัตุรมุขหลังคาซ้อน 3 ชั้น และชั้นเครื่องยอดเป็นรูปเจดีย์ศิลปะพื้นเมืองอีสาน สัณฐานเป็นเจดีย์จำลองจากองค์พระธาตุขามแก่น
นอกจากองค์ศาลหลักเมือง และเทวสถาณพระเเม่ธรณีแล้ว สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นและผสมผสานความเชื่อของไทยและจีนเข้าด้วยกันอย่างลงตัวคือ เสาเทวดาฟ้าดินสีแดงฉาน ซึ่งเสาฟ้าดินนี้เปรียบเสมือนสถานที่รับราชโองการจากสวรรค์มายังโลกมนุษย์ของเง็กเซียนฮ่องเต้ตามคติความเชื่อแบบจีน เพื่อประทานโชคลาภให้ผู้คนที่มากราบไหว้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่นมานานไม่เคยเปลี่ยน คือหนังกางแปลงหรือหนังแก้บน ซึ่งมีให้เห็นบ่อยครั้งในทุกช่วงของปี